สหกรณ์ฯบางเหรียงพลิกวิกฤติเป็นโอกาสแก้หนี้ แก้จน ปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่สมาชิกปลูกพืชระยะสั้น เน้นพืชผักปลอดภัยส่งขายตลาดนัดม.อ. ร่วมเทศบาลบางเหรียงจัดงานวันกินผัก ชูผักเด่น
“บร็อคคอรี่” ปลูกได้ที่นี่ที่เดียว
สหกรณ์การเกษตรบางเหรียง ต.บางเหรียง อ.ควนเนียง จ.สงขลาเดินหน้าขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมอาชีพแก้หนี้ แก้จนคนสหกรณ์ ตามนโยบายนายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ที่ต้องการแก้ปัญหาหนี้สินสหกรณ์ด้วยการส่งเสริมสมาชิกปลูกพืชผักระยะสั้นสร้างรายได้เพื่อนำเงินมาจ่ายหนี้สหกรณ์ ส่งผลให้วันนี้สหกรณ์ฯบางเหรียงมีหนี้เสียน้อยมาก
นายอารี กุมบุรี ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรบางเหรียง จำกัด ต.บางเหรียง อ.ควนเนียง จ.สงขลากล่าวถึงการขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมอาชีพแก้หนี้ แก้จนของคนสหกรณ์ เป็นไปตามนโยบาย
นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ที่ต้องการให้สหกรณ์ฯลดภาระหนี้สิน ด้วยการการส่งเสริอาชีพปลูกพืชระยะสั้นแก่สมาชิก โดยมีเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการฯรายละไม่เกิน 10,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3.50 ต่อปี ส่วนสมาชิกทั่วไปจะอยู่ที่ร้อยละ 8.50 บาท ซึ่งโครงการดังกล่าวได้รับความสนใจจากสมาชิกเป็นอย่างมาก โดยมีผู้สนใจขอกู้มากกว่า 300 รายจากสมาชิกสหกรณ์ทั้งหมดกว่า 800 ราย ส่วนใหญ่นำเงินมาลงทุนปลูกพืชผักระยะสั้น
“บางเหรียงเน้นผักเป็นส่วนใหญ่ ตอนนี้สมาชิกเริ่มเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นบ้างแล้ว เช่นสวนยางบ้าง ปาล์มน้ำมันบ้าง มีผลไม้บ้างประปราย แต่อาชีพหลักยังคงเป็นเรื่องของพืชผัก สมาชิก 800 กว่าราย ประมาณ 300 ราย กู้ไปเพื่อปลูกพืชผัก ” ผู้จัดการสหกรณ์ฯบางเหรียงเผย
นายอารีกล่าวต่อไปว่าปัจจุบันมีพืชผักเกือบทุกชนิดที่สมาชิกปลูก อาทิ แตงกวา บวบ ถั่วฝักขาว
ผักหชีฝรั่ง ต้นหอม ผักกาดหอม แต่ผักที่เป็นไฮไลท์ของบางเหรียงก็คือบร็อคคอรี่ เป็นผักที่เติบโตได้ดีใน
ต.บางเหรียง ส่วนพื้นที่อื่นปลูกไม่ได้หรือปลูกได้แต่คุณภาพสู้บร็อคคอรี่บางเหรียงไม่ได้ “บร๊อคคอรี่
ที่บางเหรียงปลูกเติบโตได้ดี มันอาจเกี่ยวกับดิน ทำให้สมาชิกปลูกกันเยอะ สหกรณ์ได้ร่วมกับเทศบาลจัดงานวันกินผักเป็นประจำทุกปีในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ บร๊อคคอรี่ เป็นผักพระเอกในงานเลย”
ผู้จัดการสหกรณ์ฯบางเหรียงกล่าวถึงจุดเด่นการปลูกพืชผักด้วยว่าให้ผลผลิตได้เงินเร็ว ใช้เวลาปลูกแค่ 2-3 เดือนก็สามารถเก็บผลผลิตจำหน่ายได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผักแต่ละชนิดด้วย ส่วนปัญหานอกจากโรคและแมลงรบกวนแล้ว สภาพภูมิอากาศเช่น น้ำท่วมน้ำแล้งก็มีส่วนสำคัญทำให้พืชผักเหล่านี้ได้รับความเสียหาย ส่วนเรื่องการตลาด เขาระบุว่าสมาชิกจะเป็นคนดำเนินการเองทั้งหมด สหกรณ์ไม่มีส่วนดำเนินการใด ๆ เพียงแต่ช่วยในการวางแผนการปลูกและชี้ช่องทางการตลาดให้เท่านั้น
“เดิมชื่อสหกรณ์ผู้ปลูกผักอนามัยบางเหรียง เมื่อก่อนสหกรณ์จะเป็นผู้ดูแลสนับสนุนให้กับสมาชิกทุกอย่างตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการตลาด แต่เกิดปัญหาหลายอย่างเช่น ไม่มีอาคารรวบรวมผลผลิต ผักก็เก็บไว้ได้ไม่นาน เกิดการเน่าเสียง่าย จึงทำหน้าที่แค่ส่งเสริมอย่างเดียวและปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับสมาชิกลงทุนปลูก ส่วนเรื่องตลาดเขาหาเอง ซึ่งทุกวันนี้เรื่องตลาดมันเดินไปได้ ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด มีผลผลิตบางส่วนก็ส่งขายที่ตลาดนัดเกษตรอินทรีย์ม.อ.ทุกสัปดาห์”ผู้จัดการสหกรณ์ฯบางเหรียงกล่าว
ขณะที่ นายสุทิน แก้วมณี หนึ่งในสมาชิกสหกรณ์การเกษตรบางเหรียง จำกัด ที่ยึดอาชีพปลูกพืชผักระยะสั้นมาอย่างยาวนาน โดยปลูกผักสลับกันไปบนเนื้อที่ 5 ไร่ ผักที่ปลูกมีหลายชนิด ได้แก่ ต้นหอม ผักชีฝรั่ง ผักกาดหอม แมงลัก มะเขือ พริกและอื่น ๆ ขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาด
“ แต่ก่อนปลูกต้นหอม พริกสู้ราคาไม่ไหว ค่าปุ๋ยค่ายาแพงขึ้นทุกวัน วันนี้หันมาปลูกผักชีฝรั่ง ผักกาดหอมและแมงลักราคาดีกว่า มีแม่ค้ามารับซื้อถึงที่ อย่างผักชีตอนนี้โลละ30 บาท แมงลัก 60 บาทราคาไม่ถึงกับดี แต่ก็ยังดีกว่าต้นหอมและพริก”
สมาชิกสหกรณ์ฯบางเหรียงคนเดิมกล่าวถึงการวางแผนการผลิตว่าจะปลูกพืชผักชนิดใดนั้นจะต้องศึกษาการตลาดล่วงหน้าก่อน เมื่อผลผลิตออกมาจะเป็นที่ต้องการของตลาดและปลูกสลับกันไปเรื่อย ๆ ทำให้มีผลผลิตออกมาสู่ตลาดเกือบทุกวัน “คงไม่เปลี่ยนไปปลูกพืชอื่น ไม่ถนัด เพราะเราปลูกพืชผักมานานจนรู้ว่าผักอะไรมีปัญหาโรคแมลงอะไรบ้าง ควรปลูกตอนไหน ราคาช่วงไหนดีเป็นที่ต้องการของตลาดมาก บนเนื้อที่ 5 ไร่มีผักปลูกตลอดทั้งปี เป็นผักปลอดภัยไม่มีการใช้สารเคมีใด ๆ “
นายสุทินยอมรับว่าครอบครัวมีวันนี้ได้ก็เพราะสหกรณ์เข้ามาช่วยเหลือดูแลทุกอย่าง ตั้งแต่เงินทุน อัตราดอกเบี้ยถูกมาก ร้อยละ3.50 ต่อปี วงเงินไม่เกิน 10,000 บาท สำหรับคนมีอาชีพปลูกพืชผักระยะสั้นวงเงินแค่นี้สามารถทำอะไรได้มากมาย “วงเงินกู้ 1 หมื่นเพียงพอสำหรับการลงทุนปลูกพืชระยะสั้น 30-45 วัน อย่างผมปลูกแมงลัก ผักกาดหอมใช้เวลา 45 วันก็เก็บขายได้เงินมาส่งคืนสหกรณ์ได้แล้ว ช่วงแรก ๆ จะเน้นหนักในเรื่องลงทุนวัสดุอุปกรณ์การปลูกมากกว่า”สมาชิกสหกรณ์ฯคนเดิมย้ำทิ้งท้าย
สำนักงานเลขานุการกรมส่งเสริมสหกรณ์
กรมส่งเสริมสหกรณ์ อาคาร 1 ชั้น 3
12 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200
โทร. 0 2281 2862 โทรสาร 0 2282 6078
E-mail.
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ.2566 สำนักงานเลขานุการกรมส่งเสริมสหกรณ์
copyright All reseve 2023
รูปภาพและวีดีโอ จากเว็บไซต์ freepik.com , pixabay.com , flaticon.com , canva.com